วันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2554

ผ้าไหมมัดหมี่อำเภอบ้านเขว้า



 ผ้าไหมมัดหมี่อำเภอบ้านเขว้า โดยเฉพาะตำบลบ้านเขว้า มีประวัติความเป็นมา อันยาวนานเป็นเวลานานเกือบ   200 ปี  ตั้งแต่สมัยเจ้าพ่อพระยาแล  เป็นชุมชนที่มีการทอผ้าไหมที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันมานานในหมู่ผู้นิยมผ้าไหม   และเกิดการเล่าขานแพร่กระจายในกลุ่มนักสะสมผ้าไหม  ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์ของตนเองสืบต่อถ่ายทอดกันมาแต่โบราณ 
            การทอผ้าไหมมัดหมี่ ชาวบ้านเขว้า ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพชน นานเกือบ 200 ปีนับแต่มีการก่อตั้งชุมชนบ้านเขว้า  เริ่มจากการทอเพื่อใช้ในครัวเรือน ต่อมาได้เข้าไปมีส่วนร่วมในงานประเพณีต่างๆ เช่น งานแต่งงาน ใช้เป็นเครื่องแต่งกายของเจ้าบ่าว เจ้าสาว ใช้เป็นของไหว้สำหรับญาติฝ่ายชายในงานแต่งงาน งานบวชใช้แต่งตัวนาคและผู้ที่ไปร่วมงาน รวมถึงงานบุญ    งานทาน งานประเพณีต่างๆ ผู้คนจะแต่งกายด้วยผ้าไหม ทั้งหญิงและชาย เป็นการประกวด  ประชันทั้งฝีมือการทอและการตัดเย็บกันไปในที            
             




ผ้าไหมของบ้านเขว้า เริ่มเป็นที่รู้จักทั่วไปเมื่อประมาณ พ.ศ.2523 นายถนอม แสงชมภู   นายอำเภอขณะนั้น ได้นำผ้าไหมส่งศูนย์ศิลปาชีพ สวนจิตรลดา ด้วยคุณภาพของผ้าไหม ลวดลายที่แปลกตา และผีมือที่ปราณีต จึงได้รับความสนใจ มีผู้สั่งทอเป็นจำนวนมาก ต่อมาในปี พ.ศ.2530 ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิในขณะนั้น (ร.ต. สุนัย ณ อุบล รน. :ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ด้านผ้าไหม และผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไหม) ได้ให้การส่งเสริมการผลิตและได้ส่งผ้าไหมบ้านเขว้าเข้าประกวดที่โครงการศิลปาชีพ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนคร ได้รับรางวัลชนะเลิศ หลังจากนั้น ผ้าไหมบ้านเขว้าได้รับการคัดเลือกส่งเข้าประกวดและได้รับรางวัลชนะเลิศเกือบทุกปี
             เอกลักษณ์ของลายผ้า  เป็นการสะท้อนความเป็นอยู่ และวิถีชีวิตของชุมชนที่เชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อมของชุมชน  ก่อให้เกิดจินตนาการคิดค้นออกมาเป็นลวดลายต่างๆ  บนผืนผ้าถ่ายทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน
             การเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์กับภูมิปัญญา มีการสาธิตการผลิตผลิตภัณฑ์และกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมในการผลิต เช่น  การทอผ้า  การเพนท์ผ้า  การหยอดทอง  เป็นต้น
              ในปี พ..2545 ในโครงการ หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์  ผ้าไหมบ้านเขว้าได้รับการพิจารณาเป็นสินค้าระดับ 5 ดาวของจังหวัดชัยภูมิ และในการประกวดสินค้าOTOP ของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ผ้าไหมบ้านเขว้าได้รับรางวัลชนะเลิศของประเทศ ยอดจำหน่ายเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก เห็นได้
จากการจำหน่ายผ้าไหมในงานแสดงสินค้าที่ OTOP CITY เมืองทองธานี ยอดจำหน่ายสินค้า OTOP ของจังหวัดชัยภูมิรวมทั้งสิ้นประมาณ 18 ล้านบาทเศษ เป็นยอดจำหน่ายผ้า 14 ล้านบาทเศษ ในจำนวนนี้เป็นผ้าไหมบ้านเขว้าที่สามารถจำหน่ายได้ถึง 12 ล้านบาทเศษ ในเวลาเพียง 2 สัปดาห์           
                ปี พ..2547 อำเภอบ้านเขว้าได้รับเกียรติอันสูงยิ่ง ให้เป็นผู้ทอผ้าไหม ไม้แรกของประเทศ ในการทอผ้าตามโครงการ ถักร้อยดวงใจ มหกรรมผ้าไทย เทิดไท้องค์ราชินี ซึ่งจังหวัดต่าง ๆ จะทอผ้าแล้วนำมาต่อกันเป็นผืนเดียวที่มีความยาวหลายร้อยเมตรนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ  ในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 6 รอบ 72 พรรษา

ภูคิ้ง

ภูคิ้ง มีลักษณะเป็นภูเขาหินที่มีความสูงที่สุดของป่าภูเขียว ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นมรดกเม็ดงามแห่งอีสานใต้ มีความสูงถึง 1,214 เมตร จากระดับน้ำทะเล สูงเป็นอันดับ 5 ของยอดเขาในภาคอีสาน รองจากภูหลวง ภูเรือ เขาแหลมและภูกระดึงตามลำดับ ด้านหนึ่งเป็นภูผาสูงที่ให้มุมมองไกลสุดตา มีลานหินกว้างยื่นมาจากหน้าผา สามารถมองเห็นเขื่อนห้วยกุ่ม ภูกระดึง ภูแลนคา ภูเวียง หากมองลงตรงหุบเขาแคบ ๆ ด้านล่างจะเห็นทุ่งนา ไร่สวน เขื่อน อ่างเก็บน้ำ 
ยอดภูคิ้ง มีจุดท่องเที่ยวหลากหลาย เช่น ทุ่งหญ้าสะวันนา ที่มีความกว้างคล้ายสนามกอล์ฟบนภูเขาสูง พันธุ์ไม้ กล้วยไม้และสัตว์ป่านานาชนิด แลหินเงิบที่มีลักษณะเป็นหินวางซ้อนทับคล้ายเพิงหมาแหงน บริเวณนี้เป็นแหล่งกำเนิดพืชกินแมลง "หม้อข้าวหม้อแกงลิง" แลหินจ้อง ห่างจากแลหินเงิบ 3 กิโลเมตร จะเห็นเนินมหัศจรรย์วางซ้อนทับกับก้อนมหึมา แต่มีจุดตั้งเล็กๆเท่ากำปั้นเท่านั้น ชาวบ้านเรียก "หินจ้อง" หมายถึง ร่ม ในภาษาถิ่น เรียกว่า "แหลหินตัง" หรือ "แหลพรานอ่อน" การเดินทางพิชิตยอดภูคิ้ง ดังคำพูดเปรียบเปรยว่า "สี่ภูกระดึงยังไม่เท่าหนึ่งภูคิ้ง" 
การเดินทาง จากตัวเมืองชัยภูมิใช้ทางหลวงหมายเลข 2159 (ชัยภูมิ-หนองบัวแดง) จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 2037 หนองบัวแดง-เกษตรสมบูรณ์ วิ่งเข้าเส้นทางสายเกษตร-บ้านกลาง ถึงบ้านบุ่งสิบสี่และบ้านโนนหนองไฮ รวมระยะทางประมาณ 140 กิโลเมตร จากเชิงเขาถึงยอดภูคิ้ง มีระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร มีความสูงชันเกือบ 80 องศา บางช่วงต้องโหนเถาวัลย์ขึ้นและใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมงในการพิชิตภูคิ้ง
การเดินทางโดยโดยสารประจำทาง ใช้รถโดยสารสายชัยภูมิ-ชุมแพ ลงที่อำเภอภูเขียว ต่อรถภูเขียว-หนองบัวแดง ลงที่อำเภอเกษตรสมบูรณ์ ระยะทาง 22 กิโลเมตร ต่อรถสองแถวเกษตรสมบูรณ์-บ้านกลาง ลงที่บ้านบุ่งสิบสี่ 17 กิโลเมตร จากนั้นนั่งเรือแจวข้ามน้ำพรม เดินไปในเชิงเขาประมาณ 2 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางจากบ้านบุ่งสิบสี่ถึงยอดภูคิ้งประมาณ 5 ชั่วโมง

ถ้ำแก้ว

ถ้ำแก้ว จากอำเภอภักดีชุมพลไปทางทิศเหนือ 9 กิโลเมตร ตามทางหลวง 2359 ถึงบ้านซับเจริญมีทางแยกซ้ายไปอีก 5 กิโลเมตร ถ้ำแห่งนี้อยู่ภายในบริเวณวัดถ้ำแก้ว ลักษณะของถ้ำคล้ายห้องโถงลึกลงไปในภูเขา บรรยากาศเย็นและชื้นตลอดเวลา มีไฟฟ้าให้แสงสว่างภายในถ้ำ จากปากถ้ำมีทางเดินลงลึกไปถึงด้านล่าง ซึ่งมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ และมีหินย้อย อยู่ตามผนังถ้ำ เมื่อต้องแสงเกิดเป็นประกายแวววาวสวยงาม

พระธาตุหนองสามหมื่น

พระธาตุหนองสามหมื่น เป็นโบราณสถานที่มีความสำคัญและน่าสนใจมากแห่งหนึ่งของชัยภูมิ ตั้งอยู่ที่บ้านแก้ง จากตัวเมืองชัยภูมิเดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข 201 ผ่านอำเภอภูเขียวไปจนถึงบ้านหนองสองห้องระยะทางประมาณ 80 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 2055 อีก 9 กิโลเมตรถึงบ้านแก้งและแยกซ้าย ไปวัดพระธาตุหนองสามหมื่นอีกประมาณ 5 กิโลเมตร พระธาตุหนองสามหมื่น เรียกชื่อตามหนองน้ำ ซึ่งอยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของวัด เป็นพระธาตุที่มีลักษณะสวยงาม และสมบูรณ์ที่สุดองค์หนึ่ง ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด แต่จากลักษณะทางด้านสถาปัตยกรรม และศิลปกรรมที่ปรากฏเกิดจากการผสมผสานกันระหว่างศิลปล้านนา ล้านช้าง และอยุธยา สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 21-22 ในสมัยพระไชยเชษฐาธิราชแห่งราชอาณาจักรลาว
พระธาตุหนองสามหมื่น มีลักษณะเป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ตั้งอยู่บนฐานเขียงรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีความสูงประมาณ 45 เมตร มีบันไดทางขึ้นทั้งสี่ด้าน เหนือฐานเขียงเป็นฐานบัวคว่ำบัวหงายรองรับองค์พระธาตุ ซึ่งมีซุ้มทั้งสี่ทิศ ประดิษฐานพระพุทธรูปปางรำพึง และปางลีลา ภายในองค์พระธาตุบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า รูปแบบดังกล่าวอาจเปรียบเทียบได้กับพระธาตุอื่นๆ ทั้งในนครเวียงจันทน์และในเขตไทย เช่น พระธาตุวัดเทพพล เมืองเวียงคุก จังหวัดหนองคาย พระธาตุศรีเมือง นครเวียงจันทน์ เป็นต้น

จากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่า บริเวณนี้เคยเป็นเมืองโบราณขนาดใหญ่สมัยทวารวดี อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-16 ปรากฏร่องรอยของคูน้ำ คันดิน และโคกเนินโบราณสถานหลายแห่ง โบราณวัตถุสำคัญที่พบทั้งในและนอกเขตคูเมืองหลายชิ้น ได้นำมาเก็บรักษาไว้ที่วัด เช่น กลุ่มใบเสมาหินทราย บางแผ่นก็มีจารึกอักษรปัลลวะภาษาสันสกฤต อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-14 และมีแผ่นหนึ่งนำไปตั้งเป็นหลักเมืองประจำอำเภอภูเขียวด้วย นอกจากนี้ยังมีประติมากรรมรูปเคารพอีก 2 ชิ้น สภาพชำรุดชิ้นหนึ่งคล้ายเศียรพระพุทธรูปนาคปรก ในศิลปะขอมแบบบายน อายุราวพุทธศตวรรษที่ 18

ปรางค์กู่

ปรางค์กู่ ตั้งอยู่ที่บ้านหนองบัว ตำบลในเมือง จากตัวเมืองใช้ทางหลวงหมายเลข 202 (ชัยภูมิ-บัวใหญ่) ประมาณ 1 กิโลเมตร มีทางแยกขวาเข้าปรางค์กู่ตามทางหลวง 2158 เป็นระยะทางอีก 2 กิโลเมตร
ปรางค์กู่เป็นปราสาทหินสมัยขอม ที่มีแผนผังและลักษณะเช่นเดียวกับปราสาทอื่นที่เป็น อโรคยาศาล หรือสถานพยาบาลที่สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 18 นั่นคือ มีปรางค์ประธานอยู่ตรงกลาง 1 องค์ วิหารหรือบรรณาลัยด้านหน้า 1 หลัง ล้อมรอบด้วยกำแพงศิลาแลง นอกกำแพงตรงมุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีสระน้ำ 1 สระ ปรางค์ประธานมีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 5 เมตร ย่อมุมไม้สิบสอง ด้านหน้ามีประตูเข้าออกทำเป็นมุขยื่นออกมา ผนังปรางค์อีก 3 ด้านเป็นประตูหลอก เหนือประตูหลอกด้านทิศเหนือยังคงมีทับหลังติดอยู่ จำหลักภาพตรงกลางเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งปางสมาธิเหนือหน้ากาล ซึ่งจับท่อนพวงมาลัยไว้ด้วยมือทั้งสองข้าง ด้านหน้ามีทับหลังเช่นกันแต่ลบเลือนไปมาก ที่ช่องประตูหลอกด้านทิศเหนือ มีพระพุทธรูปศิลาปางสมาธิ ศิลปะแบบทวารวดี สูง 1.75 เมตร ประดิษฐานอยู่ โดยเคลื่อนย้ายมาจากที่อื่น ชาวชัยภูมิให้การเคารพสักการะ มีการจัดงานประจำปีในช่วงกลางเดือน 5 ของทุกปี

วันพุธที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2554

ใบเสมาบ้านกุดโง้ง

ใบเสมาบ้านกุดโง้ง เก็บรักษาอยู่ภายในบริเวณโรงเรียนวัดกุดโง้ง ตำบลกุดตุ้ม จากตัวเมืองชัยภูมิไปตามทางหลวงหมายเลข 202 ประมาณ 12 กิโลเมตร มีทางแยกขวาไปอีก 3 กิโลเมตรถึงบ้านกุดตุ้ม แล้วแยกขวาเข้าเส้นทางสาย กุดตุ้ม-บุ่งคล้า อีก 4 กิโลเมตร ใบเสมาหินทรายศิลปทวารวดีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-15 ที่พบเป็นจำนวนมากในบริเวณรอบๆ หมู่บ้านได้ถูกนำมารวบรวมไว้ในอาคารอย่างเป็นระเบียบ ส่วนมากมีลักษณะเป็นแผ่นใหญ่ ด้านหน้าจำหลักลายและบางแผ่นมีจารึกอยู่ที่ด้านหลังด้วย ลวดลายที่ปรากฏเป็นเรื่องราวทางพุทธศาสนา เล่าเรื่องชาดกตอนต่างๆ หรือเป็นภาพรูปเคารพ เช่น ภาพพระโพธิสัตว์ประทับยืนบนดอกบัว ภาพพระพุทธเจ้าประทับนั่งบนบัลลังก์ใต้ต้นโพธิ์ นับเป็นกลุ่มเสมาที่สวยงามแห่งหนึ่งในอีสาน

เขื่อนจุฬาภรณ์ (เขื่อนน้ำพรม)

เขื่อนจุฬาภรณ์ (เขื่อนน้ำพรม) ตั้งอยู่ที่ตำบลทุ่งพระ อำเภอคอนสาร สร้างปิดกั้นลำน้ำพรมบนเทือกเขาขุนพาย ลักษณะเขื่อนเป็นเขื่อนหินทิ้ง แกนกลางเป็นดินเหนียว ตัวสันเขื่อนยาว 700 เมตร ความสูงจากฐานราก 70 เมตร เป็นลักษณะเขื่อนเอนกประสงค์ ในความดูแลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยใช้ประโยชน์ในการผลิตพลังงานไฟฟ้าและยังอำนวยประโยชน์ในด้านเกษตรกรรม ในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดอีกด้วย นอกจากนี้ บริเวณโดยรอบของเขื่อน ยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกคือ 
พระพุทธสิริสัตตราชจำลอง (หลวงพ่อเจ็ดกษัตริย์) ประดิษฐานที่บริเวณหัวเขื่อนฝั่งซ้าย ตรงข้ามสวนเขื่อนจุฬาภรณ์ 
สวนเขื่อนจุฬาภรณ์ ตกแต่งเป็นป่าอนุรักษ์ ในพื้นที่ประมาณ 41 ไร่ มีไม้ป่านานาชาติพร้อมศาลาพรมพิสมัยสำหรับนั่งพักผ่อน ทางเดินภายในสวนปูพื้นด้วยหินธรรมชาติ มีพืชโบราณ 325 ล้านปี เป็นพืชตระกูลหญ้ามี 2 สายพันธุ์ คือ สามร้อยยอดและสนหางม้าหรือหญ้าถอดปล้อง
ศาลาชมวิวหลุบควน เป็นจุดชมวิวอยู่ที่ระดับความสูง 800 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง มีสถานที่กางเต็นท์พักแรมและแคมป์ไฟ บริเวณริมอ่างเก็บน้ำ 
สถานริมน้ำข้างพระตำหนัก มีบรรยากาศสงบร่มรื่น สามารถมองเห็นสันเขื่อนได้ นอกจากนี้ยังมีสถานที่น่าสนใจอื่นๆอีกเช่น ทุ่งกะมัง สถานีวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าภูเขียว สวนรุกขชาติน้ำผุดทับลาว ถ้ำค้างคาวภูผาม่าน เป็นต้น

บริเวณเขื่อนมีทิวทัศน์ที่งดงาม อากาศเย็นสบายตลอดปี จึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจแห่งหนึ่งของจังหวัดชัยภูมิ ภายในบริเวณเขื่อนมีบ้านพัก ร้านอาหารไว้รับรองนักท่องเที่ยว เรือสำหรับให้ล่องชมอ่างเก็บน้ำ มีจุดชมวิวทิวทัศน์เหนือเขื่อน ศูนย์ทดลองพืชเมืองหนาว และหอดูดาว